วันเสาร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2559

โรคมะเร็ง

มะเร็ง โรคมะเร็งคืออะไร สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษาโรคมะเร็ง

หมวดหมู่ : สุขภาพเรื่องน่ารู้ Tags: มะเร็ง

ในปัจจุบันแม้ว่าหลายๆ คนจะเริ่มหันมาใส่ใจในสุขภาพร่างกายของตัวเองกันมากขึ้น แต่บรรดาเชื้อโรคต่างๆ ก็พัฒนาตัวเองขึ้นมาอย่างไม่หยุดยั้งเช่นกัน โดยเฉพาะโรคมะเร็งที่เรียกได้ว่าเป็นโรคยอดฮิตที่ผู้คนเป็นกันเยอะมากๆ ยิ่งกว่าโรคติดต่อเสียอีก เรียกได้ว่าเป็นฆาตกรเลือดเย็นที่ฆ่าผู้คนและคร่าชีวิตมนุษย์จากทั่วโลกทุกวันกว่า 200 ชนิดเลยทีเดียว
มะเร็งคืออะไร
มะเร็ง (Cancer) คือ ภาวะที่เซลล์ในร่างกายของเรามีการแบ่งตัวและเจริญขึ้นโดยรวดเร็วอย่างผิดปกติในสารพันธุกรรม (DNA) โดยเริ่มจากเป็นเซลล์เล็กๆ แล้วค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้นตามเวลา นานวันเข้าเซลล์นั้นก็จะขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงทำให้เซลล์ในก้อนเนื้อนั้นตาย จนกลายเป็นก้อนเนื้องอกร้ายที่ไปเบียดบังทั้งส่วนที่เกิดและส่วนอื่นๆ ที่อยู่ข้างเคียง จากนั้นก็จะค่อยๆ กระจายไปในส่วนอื่นๆ ของร่างกายโดยผ่านระบบกระแสเลือดหรือน้ำเหลืองของเราเป็นตัวนำเชื้อไป

อวัยวะต่างๆที่มักพบมะเร็ง

มะเร็งเต้านม มะเร็งที่พบได้มากที่สุดชนิดหนึ่งในผู้หญิง

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็ง

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ผู้คนต่างป่วยด้วยโรคมะเร็งกันมากขึ้นนั้นเกิดได้จากทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน คือ
1. ปัจจัยภายนอก
- ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี มักเกิดในคนที่ไม่นิยมกินร้อนช้อนกลาง โดยอาจติดจากทางน้ำลายในการรับประทานอาหารร่วมกัน
- การติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับ ในกรณีที่ชอบรับประทานอาหารแบบดิบๆ หรือกึ่งสุกกึ่งดิบ
- ผู้ที่ชอบดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นชีวิตจิตใจ และผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ
- ผู้ได้รับรังสีอัลตราไวโลเลตจากแสงแดดเป็นเวลานาน
- ผู้ที่เคยผ่านการฉายรังสีเอกซเรย์
- สารอะฟลาทอกซินที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารและเครื่องดื่มที่เรารับประทานกันทุกวัน โดยเฉพาะในพวกพริกแห้ง ถั่ว ฯลฯ
- สารก่อมะเร็งในอาหารจำพวกปิ้ง ย่าง ทอด โดยเฉพาะเนื้อที่ย่างหรือปิ้งจนไหม้เกรียม หรือเนื้อที่ทอดโดยใช้น้ำมันซ้ำๆ ทุกวัน
- สารไฮโดรคาร์บอน เป็นสารเคมีที่นำมาใช้ในการถนอมอาหารอย่างไนโตรซามิน ซึ่งเป็นสีย้อมผ้าที่นำมาใช้เป็นสีผสมอาหาร

2. ปัจจัยภายใน
- เกิดจากความผิดปกติภายในร่างกาย เช่น เด็กพิการแต่กำเนิด ซึ่งเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรม
- ร่างกายมีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือขาดสารอาหารบางอย่าง เช่น พวกวิตามินเอ หรือซี ฯลฯ

ซึ่งจะเห็นได้ว่ามะเร็งส่วนใหญ่นั้นเกิดจากปัจจัยภายนอกมากกว่าปัจจัยภายใน นั่นหมายความว่าเราสามารถป้องกันการก่อเกิดโรคมะเร็งได้มากพอสมควร ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและระเบียบวินัยการเลือกปฏิบัติของเราเป็นหลัก รวมทั้งความรู้ในเรื่องของสารก่อมะเร็งด้วย

เซลล์มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

อาการของโรคมะเร็ง
- สำหรับในช่วงแรกของการเกิดโรคมะเร็งขึ้นในร่างกายนั้นเรียกได้ว่าแทบไม่มีอาการอะไรส่อเค้า หรือบอกให้ผู้ป่วยทราบได้เลยว่ากำลังเผชิญกับโรคมะเร็งนี้อยู่ ทำให้กว่าที่จะรู้ตัวก็สายเกินแก้
- เมื่อเป็นประสักระยะหนึ่งหรือหลายปี ผู้ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งส่วนใหญ่มักจะเริ่มรู้สึกอ่อนเพลียง่าย เบื่ออาหาร รับประทานอาหารได้น้อยลง อิ่มเร็ว ผอมซูบ น้ำหนักลด ร่างกายเริ่มดูทรุดโทรมลง ไม่สดชื่นกระปรี้กระเปร่าเหมือนเดิม
- และเมื่ออยู่ในระยะที่มะเร็งเริ่มลุกลามมากขึ้นก็จะเริ่มปรากฏอาการอย่างชัดเจนในระยะนี้ จะรู้สึกเจ็บปวดและทรมานเป็นอย่างมากตามจุดต่างๆ ที่เกิดมะเร็งขึ้น ทั้งนี้จะมีอาการมากน้อยอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับโรคมะเร็งที่เป็นว่าเป็นมะเร็งชนิดใด ประเภทไหน และการกระจายของเซลล์มะเร็งภายในนั้นไปเบียดบังอวัยวะส่วนใดบ้าง ณ ขณะนั้น

มะเร็งตับ เป็นมะเร็งพบได้มากทั้งผู้ชายและผู้หญิง

สัญญาณเตือนที่ควรเริ่มสันนิษฐานว่าเป็นมะเร็ง
- มีเลือดออกผิดปกติทางทวารต่างๆ โดยเฉพาะในทวารหนัก หรือปากมดลูก
- เริ่มรู้สึกว่ากลืนอาหารลำบากมากขึ้น หรือรู้สึกเสียดแน่นท้องบ่อยๆ และนาน
- เมื่อปัสสาวะออกมาเป็นเลือด หรืออุจจาระออกมาเป็นก้อนสีดำ
- เสียงเริ่มแหบแห้ง และไอบ่อยมากขึ้นจนเรื้อรัง
- เมื่อเกิดบาดแผลขึ้นในร่างกายแล้วไม่หายสักที
- เมื่อคลำเจอก้อนหรือตุ่มที่ขึ้นตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย
- เมื่อไฝ หูด หรือปานในร่างกายตามส่วนต่างๆ เริ่มเปลี่ยนแปลง เช่น ใหญ่ขึ้น หรือสีเปลี่ยน เป็นต้น

มะเร็งปอด พบมากในคนที่สูบบุหรี่เป็นประจำ

วิธีรักษาโรคมะเร็ง
สำหรับการรักษาโรคมะเร็งนี้แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยอาการของโรค มีการตรวจอย่างละเอียดว่าเซลล์มะเร็งร้ายกระจายไปอยู่ในบริเวณใดของร่างกายบ้าง เมื่อทราบแล้วก็จะรักษาไปตามอาการ โดยมะเร็งแต่ละชนิดการรักษาก็อาจจะแตกต่างกันออกไปบ้าง แต่ทั้งนี้ก็มีวิธีที่แพทย์นิยมรักษากันอยู่ คือ

1. การผ่าตัด
หากผ่าตัดออกได้แพทย์จะทำการผ่าตัดก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อกำจัดก้อนเนื้อร้ายที่อยู่ในร่างกายเราออกไป แต่วิธีนี้ไม่ได้สามารถทำการรักษาได้กับมะเร็งทุกประเภท และหากทำการผ่าตัดแล้วก็ยังไม่แน่นอนว่าจะหายขาด 100 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ เพราะเซลล์มะเร็งอาจยังหลงเหลือหรือหลบซ่อนอยู่ในร่างกาย โดยอาจเป็นเซลล์มะเร็งที่กำลังเริ่มจะเกิดแต่ยังไม่โตให้เห็น ทำให้แพทย์ไม่สามารถรู้หรือสังเกตเห็น เมื่อปล่อยไปสักระยะก็จะกลับเข้าสู่วังวนเดิม คือเริ่มก่อตัวขยายใหญ่ขึ้น ก็ต้องมาผ่าตัดกันใหม่อีกรอบ แต่โดยมากกับวิธีการผ่าตัดนี้แพทย์มักแนะนำให้ทำคีโมหรือเคมีบำบัดร่วมด้วย เพื่อเพิ่มโอกาสที่จะช่วยให้หายขาดจากโรคมะเร็งนี้ได้

2. การใช้รังสีรักษา
เป็นการฉายแสงไปยังเซลล์มะเร็งในร่างกาย เพื่อทำลายกลุ่มก้อนเซลล์มะเร็งนั้น สำหรับการฉายแสงนี้เป็นการรักษาแบบเฉพาะที่ โดยอาศัยปัจจัยจากชนิดของมะเร็งที่เป็น รวมทั้งระยะเวลาที่เกิดมะเร็ง ตลอดจนสุขภาพของผู้ป่วยด้วยว่าแข็งแรงพอหรือไม่ ซึ่งหากผู้ป่วยพร้อมก็จะทำการฉายแสงประมาณ 2 – 10 นาที โดยต้องทำการฉายแสงสัปดาห์ละ 5 วัน รวมประมาณ 5 – 8 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ แต่การรักษาด้วยรังสีรักษานี้จะทำให้เกิดผลข้างเคียงขึ้น ได้แก่ ผิวหนังจะแห้งๆ คันๆ แดง หรือคล้ำ รวมทั้งมีอาการเจ็บคอ ลิ้นไม่รู้รส ปากแห้ง และอ่อนเพลียมาก

3. เคมีบำบัด (คีโม) 
สำหรับวิธีนี้ถือเป็นการรักษาอย่างถูกจุด เรียกว่าถึงรากถึงโคน แก้ที่สาเหตุโดยตรงของปัญหา เพราะเป็นการให้ยาเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งทั้งหมดที่อยู่ภายในร่างกาย รวมทั้งที่กระจายเข้าไปตามต่อมน้ำเหลืองหรือกระแสเลือดด้วย โดยแพทย์จะนัดมาทำการตรวจร่างกายวัดความดันและทำการเจาะเลือด ซึ่งหากผลการตรวจร่างกายผ่าน แพทย์ก็จะให้ไปทำการให้คีโมซึ่งก็เหมือนกับการให้น้ำเกลือทั่วไป เพียงแต่ต้องนอนรอหลายชั่วโมงจนกว่าตัวยาจะหมด และในระหว่างการให้คีโมนี้ผู้ป่วยบางคนอาจเกิดอาการแพ้ได้ ซึ่งอาจรู้สึกเวียนศีรษะ คลื่นไส้ หรืออาเจียน และผลข้างเคียงที่ตามมาหลังจากการให้คีโมประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ ผมจะเริ่มร่วง รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน เป็นแผลในปาก และปริมาณเม็ดเลือดลดลงทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย ตลอดจนอาจรู้สึกหายใจลำบาก มีผื่นขึ้น ท้องผูกถ่ายไม่ออก หรือมีไข้ เป็นต้น แต่การรักษาด้วยวิธีนี้ก็มีราคาค่อนข้างแพงเลยทีเดียว แถมยังต้องทำหลายครั้ง ขึ้นอยู่กับแพทย์เป็นผู้วินิจฉัยว่าต้องทำทั้งหมดกี่ครั้งจึงจะหายเป็นปกติ

ผู้ป่วยบางรายที่ทำเคมีบำบัด อาจเกิดผลข้างเคียงทำให้ผมร่วงได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น