วันพุธที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2560

หลายคนคงกำลังสงสัยว่า “ส้มตำ” อาหารประจำชาติของประเทศไทย ทำไมถึงเรียกว่าส้มตำกันนะ ทั้งๆที่วัตถุดิบก็คือนำมะละกอมาตำ เอ๊ะ หรือว่า..คนคิดเมนูคนแรกชื่อส้ม วันนี้เรามีเกร็ดความรู้มาไขข้อข้องใจให้เพื่อนๆกันค่ะ

ทำไมเรียกว่าส้มตำ?

อันที่จริงไม่ใช่ชื่อของคนทำหรืออะไรหรอกค่ะ ที่ชื่อส้มตำก็เพราะเป็นการนำคำสองคำมาผสมกันนั่นเอง ก่อนอื่นต้องแยกคำก่อนนะคะ
คำแรก “ส้ม” มาจากภาษาท้องถิ่น ที่หมายความว่า รสเปรี้ยว
ส่วนคำที่สองคือ “ตำ” หมายความว่า การใช้สากหรือสิ่งของอื่นที่คล้ายคลึงทิ่มลงไปอย่างแรงเรื่อยๆ
เมื่อจับทั้งสองคำมารวมร่างกันก็จะได้ความหมายคือ อาหารรสเปรี้ยวที่ทำโดยการตำ นั่นเองค่ะ
นอกจากนี้ ส้มตำยังมีชื่อเรียกในภาษาท้องถิ่นอีกหลายชื่อ เช่น ตำบักหุ่ง, ตำมะละกอ

ส้มตำ เป็นการปรุงอาหารโดยมีส่วนประกอบหลักคือการขูดมะละกอออกเป็นเส้นๆใส่ลงไปในครก พร้อมกับใส่วัตถุดิบต่างๆ เช่น ถั่วฝักยาว กระเทียม มะเขือเทศลูกเล็ก มะเขือเปราะ มะเขือสีดา พริกสด พริกแห้ง เสร็จแล้วปรุงรสด้วยน้ำตาลทรายขาวหรือน้ำตาลปี๊บ เติมน้ำปลา มะนาว ตามความชอบ

ส่วนประกอบต่างๆเหล่านี้ทำให้ส้มตำมีรสที่เป็นเอกลักษณ์ เปรี้ยว เค็ม เผ็ด แซ่บนัวถูกใจใครหลายๆคน สำหรับคนไทยในภาคอีสานนิยมกินส้มตำรสเค็มเผ็ด และคนไทยในภาคกลางนิยมกินรสเปรี้ยวหวาน นอกจากนี้ยังมีเครื่องเคียงที่มักมาคู่กันจนแทบขาดกันไม่ได้อย่าง ปลาดุกย่าง ไก่ย่าง แคบหมู ขนมจีน เส้นหมี่ และผักสด เช่น ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ผักดอง ถั่วงอก ใบชะพลู เป็นต้น ร้านส้มตำมักขายอาหารอีสานอื่นควบคู่ไปด้วย เช่น ต้มแซ่บ ลาบ น้ำตก ซกเล็ก ก้อย แจ่ว ตับหวาน ไก่ย่าง คอหมูย่าง พวงนม กุ้งเต้น ข้าวเหนียว

ประวัติส้มตำ

เดิมทีมะละกอเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบอเมริกากลาง ต่อมายุคต้นกรุงศรีอยุธยา ชาวโปรตุเกสและสเปนได้นำมาเพาะปลูกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ช่วงเวลาใกล้ๆกันชาวฮอลันดาก็ได้นำพริกเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทยในเวลาต่อมา

ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทูตชาวฝรั่งเศส นีกอลา แฌร์แวซ (Nicolas Gervaise) และ ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ ได้มาเยือนกรุงศรีอยุธยา และกล่าวในเวลานั้นไว้ว่า มะละกอได้กลายมาเป็นพืชพื้นเมืองชนิดหนึ่งของสยามไปแล้ว และยังได้กล่าวถึง มะนาว มะม่วง กระเทียม ปลาร้า ปลากรอบ กุ้งแห้ง กล้วย น้ำตาล พริกไทย แตงกวา ถั่วชนิดต่าง ๆ ที่ล้วนนำมาเป็นส่วนประกอบสำหรับปรุงส้มตำได้

ในภาษาลาวเรียกส้มตำว่า ตำบักหุ่ง หรือ ตำหมากหุ่ง (หมากหุ่งหมายถึงมะละกอ) ในบางครั้งเรียกว่า ตำส้ม คำว่า ส้ม ในภาษาไทยแปลว่า เปรี้ยว คำว่า ส้มตำ จึงเป็นคำในภาษาไทยที่ถูกนำมาเรียกโดยคนลาว เครื่องปรุงทั่วไปของส้มตำลาวจะคล้ายคลึงกับส้มตำไทย ประกอบไปด้วยมะละกอสับเป็นเส้น ผงนัว (ผงชูรส) หมากเผ็ด (พริก) เกลือ กระเทียม น้ำปลา น้ำตาล น้ำปลาแดก (น้ำปลาร้า) หมากถั่ว (ถั่วฝักยาว) หมากนาว (มะนาว) และอื่น ๆ ในบางพื้นที่นิยมใช้กะปิแทนปลาแดกและใส่เม็ดกระถินด้วย นอกจากนี้บางพื้นที่มีการใส่ปูดิบและน้ำปูลงไปด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น